“นิ้วล็อค” โรคยอดฮิตวัยทำงานสายโซเชียล

“นิ้วล็อค” โรคยอดฮิตวัยทำงานสายโซเชียล

พฤษภาคม 7, 2024

โรคนิ้วล็อค (Trigger finger)  เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้มือเป็นหลัก เช่น พนักงานออฟฟิศ นักเขียน หรือผู้ใช้สมาร์ทโฟนมาก อาการจะเริ่มจากปวดบริเวณโคนนิ้ว มีอาการสะดุดเวลางอหรือเหยียดนิ้ว และอาจล็อคไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง

 สาเหตุโรคนิ้วล็อค

เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่ฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี และเกิดอาการล็อคที่ทำให้นิ้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานมือและนิ้วมือหนักเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเสียดสีและอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น การปล่อยทิ้งโรคนิ้วล็อคโดยไม่รักษาอาจเป็นเรื้อรังและมีข้อนิ้วงอผิดรูปได้

 

อาการนิ้วล็อคมี 4 ระยะตามระดับความรุนแรงดังนี้

  • ระยะที่1 เจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
  • ระยะที่2 มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วเองได้
  • ระยะที่3 เวลากำมือ แล้วมีอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดเองได้ ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก
  • ระยะที่4 กำมือได้ไม่สุด อาจมีข้อมือผิดรูปร่วมด้วย

 

การรักษา โรคนิ้วล็อค

การรักษาโรคนิ้วล็อคมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยอาจใช้ยารับประทานในกลุ่ม NSAID เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ และพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง ใช้เครื่องดามนิ้ว หรือการนวดเบา ๆ การประคบร้อน และการทำกายภาพบำบัด (คลิกลิ้ง) การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็น และการผ่าตัด โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวก ไม่ติดขัด

 

5 วิธี แก้อาการปวดนิ้วล็อคด้วยตัวเอง

  1. ประคบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นที่ฝ่ามือ เพื่อช่วยลดอาการบวมและปวด
  2. ใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Splinting) เพื่อช่วยให้นิ้วอยู่ในท่าตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป และช่วยให้นิ้วได้พัก
  3. ออกกำลังกายยืดเส้นเพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ
  4. พักการใช้มือในกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหรือแบกน้ำหนักเป็นเวลานาน เพื่อให้มือได้พัก
  5. รับประทานยาแก้ปวดและลดอักเสบ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการได้ระดับหนึ่ง

หากทำตามวิธีการข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม เช่น การฉีดยาหรือการผ่าตัด

สำหรับวิธีลดความเสี่ยงการเป็นนิ้วล็อค ได้แก่ ไม่หิ้วของหนักเกิน ใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้งาน พักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยมือ และกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือ เพื่อให้กำแน่นๆ